- knowledge -

🪖 ทำไมต้องดอกป๊อปปี้ ในวันทหารผ่านศึกกันนะ 🫡

          หลายคนอาจจะสงสัยนะคะว่า เมื่อถึงช่วงต้นเดือนกุมภาพันธ์ จะมีอยู่หนึ่งวันที่เห็นคนออกมาขายดอกไม้สีแดงหน้าตาที่ไม่คุ้นเคยตามสถานที่ต่างๆ บางคนก็แต่งชุดทหารมาด้วย ดอกไม้นี้คืออะไร มีที่มายังไง และเกี่ยวข้องอย่างไรกับทหาร พี่ดิจิจะพาไปหาคำตอบกันค่ะ
          จุดเริ่มต้นของการใช้ดอกป๊อปปี้เป็นสัญลักษณ์แทนวันทหารผ่านศึกนั้น คาดว่ามาจากสงครามโลกครั้งที่ 1 ในสมรภูมิพลานเดอร์ส (Vlaanderen) ที่ครอบคลุมบางส่วนของประเทศเบลเยียม ฝรั่งเศส และเนเธอร์แลนด์ ซึ่งเป็นสงครามระหว่างสัมพันธมิตรและเยอรมนี สมรภูมิดังกล่าวมีทหารฝ่ายพันธมิตรบาดเจ็บและเสียชีวิตเป็นจำนวนมาก แต่กลับเกิดปรากฏการณ์ประหลาดขึ้น เมื่อมีดอกป๊อปบี้บานขึ้นในบริเวณที่เป็นหลุมฝังศพของทหารเหล่านั้นนั้นเต็มไปหมด เกิดเป็นภาพของทุ่งดอกไม้สีแดงอันงดงามตรงข้ามกับภาพของความโหดร้ายของสงครามและความตาย
          สงครามโลกครั้งที่ 1 สิ้นสุดลงเมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน ค.ศ. 1918 (พ.ศ. 2461) ซึ่งเป็นวันลงนามสงบศึกระหว่างฝ่ายสัมพันธมิตรกับเยอรมนี จอมพลดักลาส เฮก เอิร์ลเฮกที่ 1 (Douglas Haig, 1st Earl Haig) ผู้บัญชาการรบกองทัพอังกฤษในครั้งนั้น จึงได้นำเอาดอกป๊อปปี้มาใช้เป็นเครื่องเตือนใจถึง วีรกรรม ความกล้าหาญ ชีวิตและเลือดสีแดงของเหล่าทหารที่ได้เสียสละเพื่อประเทศชาติ อีกทั้งยังก่อตั้ง "สันนิบาตสงเคราะห์ทหารผ่านศึก" ขึ้นในอังกฤษ เพื่อช่วยเหลือเหล่าทหารและครอบครัวที่ได้รับผลกระทบจากสงคราม โดยกำหนดให้วันที่ 11 พฤจิกายน นี้เป็น “วันทหารผ่านศึก” ในประเทศอังกฤษ
          จากนั้นในปีถัดมา ก็เริ่มมีการประดิษฐ์ดอกป๊อปปี้ออกมาจำหน่ายในวันนี้ เพื่อนำเงินรายได้ไปเป็นทุนช่วยเหลือทหารผ่านศึก จึงเรียกวันนี้อีกอย่างว่า “วันป๊อปปี้” (POPPY DAY) นั่นเองค่ะ และเป็นธรรมเนียมมาจุดถึงปัจจุบัน ซึ่งนอกจากจำหน่ายดอกป๊อปปี้แล้ว ยังมีขบวนพาเรด และพิธีต่างๆ เช่น การไว้อาลัยด้วยความเงียบเป็นเวลา 2 นาที เมื่อหอนาฬิกาบิ๊กเบน (Big Ben) ตีระฆังเมื่อเวลา 11 นาฬิกา เป็นต้น
          (เกร็ดเพิ่มเติม: ในอเมริกาจะเรียกวันทหารผ่านศึกว่า Veterans Day ซึ่งเปลี่ยนชื่อมาจาก Armistice Day หรือ “วันสงบศึก” เมื่อปี ค.ศ. 1954 และในอังกฤษรวมถึงประเทศในเครือจักรภพจะเรียกวันนี้ว่า Remembrance Day หรือ “วันรำลึก”)
          ดอกป๊อปปี้เองก็มีหลายสีขึ้นอยู่กับพันธุ์ ซึ่งที่ใช้เป็นสัญลักษณ์ของเหล่าทหารผ่านศึกคือ ดอกป๊อปปี้พันธุ์ Papaver rhoeas ซึ่งมีสีแดงสดค่ะ แต่เดิมทีตัวดอกป๊อปปี้นั้นถูกใช้เป็นสัญลักษณ์มาของ การหลับใหล ความสงบ และความตาย มาอย่างยาวนานแล้ว โดยที่มาของการหลับใหลมาจาก ฝิ่นซึ่งเป็นผลิตผลของป๊อปปี้ที่มีฤทธิ์เป็นยากดประสาท ส่วนความตายมีที่มาจากสีแดงของดอกป๊อปปี้แดง ในเทพนิยายของกรีกและโรมัน ดอกป๊อปปี้ยังถูกใช้เป็นสิ่งบูชาต่อผู้วายชนม์อีกด้วย
          ส่วนความสัมพันธ์ของดอกป๊อปปี้กับวันทหารผ่านศึกในไทยนั้น เริ่มขึ้นจากในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ประเทศไทยต้องพบกับภาวะสงคราม จึงจำเป็นต้องส่งทหารเข้าร่วมสงครามเป็นจำนวนมาก ทำให้มีทหารที่ได้รับการปลดระวางจากสงครามมากตามมาด้วย ซึ่งทหารเหล่านั้นเมื่อปลดระวาง ก็ได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจยามสงคราม ทหารบางนายก็ได้รับบาดเจ็บ ทุพพลภาพสูญเสียอวัยวะสำคัญจนยากที่จะประกอบอาชีพได้ รัฐบาลในสมัยนั้นของพลเรือตรี ถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ จึงได้จัดตั้งมูลนิธิองค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึก ผ่านการประกาศ พ.ร.บ. เพื่อช่วยเหลือและให้การสงเคราะห์แก่ทหาร ที่กลับจากปฏิบัติการรบและช่วยเหลือครอบครัวทหารที่เสียชีวิตในการรบด้วย ในวันที่ 3 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2491 จึงได้ถือให้วันดังกล่าวเป็น “วันทหารผ่านศึก” ประจำปี เพื่อรำลึกถึงความเสียสละของเหล่าทหารกล้าทั้งหลายนั่นเองค่ะ
          ต่อมาในเดือนสิงหาคม พ.ศ.2511 ท่านผู้หญิง จงกล กิตติขจร ประธานมูลนิธิสงเคราะห์ครอบครัวทหารผ่านศึกในขณะนั้น ต้องการจะดำเนินการหาทุนมาช่วยเหลือทหารและครอบครัวทหารผ่านศึกเพิ่มเติม จึงได้ริเริ่มการจัดทำดอกป๊อปปี้ออกจำหน่ายเพื่อหาหารายได้เข้ามูลนิธิ และในปีถัดมา ดอกป๊อปปี้ก็ได้ถูกจำหน่ายกรุงเทพมหานครและต่างจังหวัด ดอกไม้ชนิดนี้จึงถูกเรียกว่าเป็น “ดอกไม้ที่ระลึกวันทหารผ่านศึก”
          โดยในบ้านเรานอกจากจะจำหน่ายดอกป๊อปปี้และของที่ระลึกแล้ว ก็ยังมีกิจกรรมอื่นที่ทำให้วันนี้อีก เช่น จัดงานรำลึกทั่วประเทศ จัดนิทรรศการเผยแพร่วีรกรรมของเหล่าทหารกล้า และวางพวงมาลา ณ อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ ซึ่งเป็นอนุสรณ์สถานที่มีความเกี่ยวข้องกับทหารโดยตรง เพราะเป็นที่จารึกชื่อของทหารกล้าและเหล่าวีรชน จากสงครามในอดีตทั้งหลายทั้ง สงครามข้อพิพาทแย่งดินแดนระหว่างไทยและฝรั่งเศส สงครามมหาเอเซียบูรพา(สงครามโลกครั้งที่ 2) และสงครามเกาหลี โดยการวางพวงมาลา จะวางโดยบุคคลสำคัญของประเทศเพื่อคารวะและเทิดทูนดวงวิญญาณเหล่านั้นที่ทำหน้าที่จนถึงวินาทีสุดท้าย และเพื่อเตือนใจคนรุ่นหลังถึงความเสียสละของพวกเขาที่ทำให้ประเทศเราดำรงเอกราชได้ตลอดจนถึงปัจจุบัน
          อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ ทำพิธีเปิด เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2485 โดยจอมพล ป.พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น รายชื่อของผู้เสียชีวิตและผู้สละชีพเพื่อชาติจากสงครามต่างๆ ตั้งแต่ พ.ศ.2483-2497 รวมทั้งสิ้น 801 นาย จะถูกจารึกไว้ที่แผ่นทองแดงบริเวณใต้รูปปั้นของอนุสาวรีย์
          เป็นเรื่องที่น่าเศร้าใจนะคะ ที่วันสำคัญอย่าง “วันทหารผ่านศึก” นั้น กลับไม่ค่อยได้รับความสนใจเท่าที่ควรเลย ถ้าเทียบกับวันอื่นๆ ทั้งที่พวกเขาต้องสละชีวิต หรือบางคนก็กลับมาในสภาพที่น่าสงสารมาก แม้กระทั่งในปัจจุบันก็ยังมีทหารผ่านศึกที่ยังต้องการความช่วยเหลืออยู่ไม่น้อยเช่นกัน หากเป็นไปได้อาจจะช่วยกันสนับสนุนดอกป๊อปปี้ก็ได้ค่ะ หรืออย่างน้อยที่สุด ก็ระลึกถึงว่า ในขณะที่พวกเราอยู่อย่างสบายก็ยังมีคนกลุ่มหนึ่งที่ต้องเสี่ยงชีวิตยืนอยู่บนความเป็นความตายเพื่อคนในชาติทุกคนค่ะ

Tag: #สาระเลี้ยงลูก #เลี้ยงลูกอย่างไร #digitalkids #ของเล่นฝึกทักษะ #ของเล่นเด็ก #วันทหารผ่านศึก