- knowledge -

วันครู กับ วันไหว้ครู ต่างกันยังไงมาดูกัน!

          นอกจากคุณพ่อและคุณแม่ผู้ให้กำเนิดและเลี้ยงดูเราจนโตขึ้นมาได้แล้วนะคะ ทุกๆ คนยังต้องมีคุณครูเป็นผู้ประสิทธิ์ประสาทวิชาให้ความรู้แก่เรา เป็นอีกหนึ่งบุคคลเบื้องหลังที่เป็นส่วนสำคัญในการทำให้เราเติบโตขึ้นมาได้อย่างมีคุณภาพ แต่เชื่อมั้ยคะว่า ยังมีเรื่องที่หลายคนอาจยังเข้าใจผิดว่า วันครูกับวันไหว้ครู นั้นเป็นวันเดียวกัน ทั้งๆ ที่ ทั้งสองวันนี้มีความต่างกันอย่างสิ้นเชิงแล้วก็อยู่ห่างกันหลายเดือนเลยนะคะ วันนี้พี่ดิจิขออาสามาให้ความกระจ่างกับทุกคนเองค่ะ เริ่มที่วันครูก่อนเลยค่ะ “วันครู” นั้นจะตรงกับวันที่ 16 มกราคม ของทุกปี มีที่มาเริ่มต้นมาจากการประชุมสามัญคุรุสภาประจำปี พ.ศ. 2499 จอมพล ป. พิบูลสงคราม ที่เป็นนายกรัฐมนตรีและประธานกรรมการอำนวยการคุรุสภากิตติมศักดิ์ในขณะนั้น ได้ประกาศให้ กำหนดวันสำคัญขึ้นเพื่อระลึกถึงพระคุณของคุณครู ที่เป็นผู้เสียสละแรงกายและแรงใจ ให้ความรู้และชี้นำทางที่ดีแก่ลูกศิษย์ จึงเป็นที่มาของ “วันครู” นั่นเองค่ะ โดย วันครูจัดขึ้นครั้งแรกในวันที่ 16 มกราคม พ.ศ. 2500 หรือ ในปีถัดไปของการประชุมนั่นเอง
          และ ในปี พ.ศ. 2539 ก็ได้มีการประกาศให้ “ดอกกล้วยไม้” เป็นสัญลักษณ์ประจำวันครู เนื่องจาก ดอกกล้วยไม้เป็นพืชที่ต้องการการดูแลเอาใจใส่เป็นระยะเวลานาน กว่าจะผลิดดอกออกผลที่สวยงามได้ เปรียบดั่ง “ครู” แต่ละคนที่ต้องใช้เวลา ในการอบรมบ่มเพาะสั่งสอน “ลูกศิษย์” ให้เติบโตขึ้นและเจริญก้าวหน้าในชีวิต ทั้งในด้านความรู้และจริยธรรมในชีวิต กระทรวงศึกษาธิการได้ประกาศให้ วันครู เป็นวันหยุดสำหรับโรงเรียนทั่วประเทศ นักเรียนก็จะได้หยุดกันค่ะ (~เย่) ส่วนคุณครูก็จะเข้าร่วมกิจกรรม ซึ่งจัดกันภายในหน่วยงานเป็นหลัก ส่วนใหญ่จะประกอบด้วย 3 กิจกรรมหลัก ได้แก่ กิจกรรมทางศาสนา พิธีรำลึกถึงพระคุณบูรพาจารย์ และกิจกรรมสันทนาการเพื่อเพิ่มความสามัคคีในหมู่คุณครูหรือการจัดงานรื่นเริงในตอนเย็น บางโรงเรียนอาจมีการจัดกิจกรรมสัปดาห์วันครู เช่น นิทรรศการให้ความรู้ ประกวดแต่งคำขวัญ วาดรูป เป็นต้น สำหรับนักเรียนปัจจุบันหรือศิษย์เก่า อาจจะใช้วันนี้เป็นโอกาสดีที่จะเดินทางไปพบปะ เยี่ยมเยือน กับคุณครูที่เคยสอนตัวเองก็ได้เช่นกันค่ะ
          แน่นอนค่ะว่า ไม่ใช่เพียงแค่ประเทศไทยเท่านั้นที่มีวันครู ประเทศอื่นๆ ก็ยังมีวันครู หรือ Teacher’s Day ด้วยเช่นกัน ซึ่งแต่ละประเทศก็จะกำหนดวันครูตามแต่ละเหตุการณ์สำคัญของประเทศนั้นๆ และองค์การยูเนสโก ก็ยังได้กำหนดให้วันที่ 5 ตุลาคมของทุกปี เป็น “วันครูโลก” (World Teacher’s Day) เพื่อเชิดชูเหล่าคุณครูที่เป็นหัวใจสำคัญของการศึกษาและพัฒนาบุคคล เป็นการเน้นย้ำว่าอาชีพครูเป็นอาชีพที่ทั่วโลกต่างก็ให้ความสำคัญมากเหมือนกันค่ะ

คำขวัญวันครู 2566 "พัฒนาครู พัฒนาเด็ก เรียนรู้สู่อนาคต" พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี

          ส่วน “วันไหว้ครู” นะคะ จะไม่ได้กำหนดวันที่ตรงๆ เหมือนวันครู แต่มักจะจัดขึ้นใน “วันพฤหัสบดี” ของเดือนแรกในการเปิดภาคเรียนที่ 1 ส่วนจะเป็นวันพฤหัสฯ ไหนนั้นแล้วแต่ความสะดวกของแต่ละโรงเรียนเลยค่ะ ซึ่งประเพณีของการไหว้ครูนี้ก็มีมาตั้งแต่โบราณแล้ว เพื่อเป็นการแสดงถึงความระลึกถึงบุญคุณและแสดงตนว่าขอเป็นศิษย์ของคุณครูแต่ละท่านค่ะ มีเรื่องที่น่าสนใจว่า ทำไมต้องเป็นวันพฤหัสบดี ตรงนี้มีที่มาจากความเชื่อเกี่ยวกับครูในศาสนาพาราหมณ์ – ฮินดูที่เข้ามามีบทบาทตั้งแต่ในสมัยอยุธยา ที่นับถือเทพเจ้านามว่า “พระพฤหัสบดี” หรือพระนามเดิมคือ “ครุเทว” ซึ่งถือว่าเป็นครูของเหล่าเทวดาทั้งหลาย จึงถือเอาวันพฤหัสบดีเป็นวันประกอบพิธีไหว้ครูมาจนปัจจุบัน
          ความแตกต่างกับวันครูที่ชัดเจนเลย คือ วันไหว้ครูจะเป็นวันที่เด็กๆ นักเรียนได้มีส่วนร่วมกับกิจกรรมอย่างเต็มที่เลยค่ะ ที่คุ้นเคยกันดีเลย ก็อย่างการทำพานไหว้ครู แต่ละโรงเรียนก็มักจะจัดประกวดพานไหว้ครูกันระหว่างห้องหรือชั้นเรียน เพื่อให้นักเรียนได้แสดงความคิดสร้างสรรค์อย่างเต็มที่ ส่วนนักเรียนแต่ละคนก็จะมีการนำดอกไม้ ธูปเทียน มาไหว้ครูของแต่ละคน แล้วมีการกล่าวคำปฏิญาณตน “ปาเจราจะริยา โหนติ” ที่ทุกคนท่องกันได้ขึ้นใจเลย

สัญลักษณ์ประจำวันไหว้ครูที่ทุกคนเห็นกันนั้น ก็มีความหมายที่ดีเหมือนกันนะคะ

ดอกมะเขือ: ด้วยดอกที่โน้มลงตลอดเวลาแสดงถึงความอ่อนน้อมถ่อมตน
และด้วยความที่มะเขือมีเมล็ดมาก ยังให้ความหมายของการเจริญงอกงามได้ง่ายในทุกที่อีกด้วยค่ะ
หญ้าแพรก: แสดงถึง สติปัญญาของลูกศิษย์ที่สามารถเจริญงอกงามได้ไวดั่งการเจริญเติบโตของหญ้าแพรก
ดอกเข็ม: แน่นอนว่าปลายแหลมของดอกเข็มถูกนำมาเปรียบเปรยกับสติของลูกศิษย์ที่แหลมคมจากความรู้ที่ได้รับ
ข้าวตอก: เป็นสัญลักษณ์ของความมีระเบียบวินัยและความอดทน ที่อาจจะต้องตีความนิดนึงนะคะ เพราะการทำข้าวตอกนั้นจะต้อง
นำข้าวเปลือกมาคั่วไฟอ่อนๆ ก่อน เมื่อได้รับความร้อนจนถึงจุดหนึ่ง ก็จะแตกออก นั่นก็คือ ลูกศิษย์ที่มีระเบียบวินัยและอดทนศึกษาเล่าเรียน
จนถึงจุดที่ทุกอย่างสัมฤทธิ์ผล ก็จะประสบความสำเร็จอย่างงดงาม เหมือนกับข้าวตอกที่แตกออกมาเป็นเนื้อสีขาวที่สวยงามนั่นเองค่ะ

          มาถึงตรงนี้ อาจจะพอเข้าใจถึงความแตกต่างของ “วันครู” และ “วันไหว้ครู” กันไปแล้วนะคะ แต่ไม่ว่าสองวันนี้จะเป็นวันเดียวกันหรือคนละวันกันก็ไม่สำคัญเท่ากับ การปฏิบัติตัวของเราในเรื่องการตั้งใจเรียน และความกตัญญูกตเวที ต่อคุณครูผู้สอนทุกท่าน ที่ไม่ได้จำกัดแค่สองวันนี้เท่านั้นค่ะ